บอกลาเส้นเลือดขอด ด้วย 7 วิธีการดูแลตัวเอง

เส้นเลือดขอดเป็นปัญหาที่น่าหนักใจสำหรับใครหลายคน โดยเกิดจากการที่หลอดเลือดดำขยายตัวโป่งพองและขดไปมา จึงเกิดเส้นเลือดสีฟ้าหรือม่วงนูนขึ้น โดยเฉพาะบริเวณต้นขาและน่อง แต่หากเราดูแลตัวเองถูกต้องก็สามารถเลี่ยงการเกิดเส้นเลือดขอดได้

เส้นเลือดขอดมีสาเหตุจากอะไร? 

หลอดเลือดดำมีหน้าที่นำเลือดกลับสู่หัวใจ ซึ่งภายในหลอดเลือดดำจะมีลิ้น (Valve) เปิดและปิดเพื่อให้เลือดไหลไปสู่หัวใจในทิศทางเดียว หากลิ้นปิดไม่สนิทอาจทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปสะสมคั่งในหลอดเลือดที่ผิวหนังชั้นตื้นและทำให้เกิดเส้นเลือดขอดขึ้น ซึ่งพบได้บ่อยที่บริเวณขา 

การดูแลตัวเองอย่างไรหากไม่อยากเป็นเส้นเลือดขอด 

การปรับพฤติกรรมและดูแลตนเองเพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเกิดเส้นเลือดขอด มีดังนี้ 

1.ยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยอาจทำวันละ 3–4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 5–15 นาที และใช้หมอนรองขาขณะนั่งหรือนอน ซึ่งจะช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น และลดอาการปวด และทำให้ลักษณะของเส้นเลือดขอดมีขนาดเล็กลง เป็นต้น 

2.บริหารข้อเท้าและขาบ่อยๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดินหรือว่ายน้ำ เพื่อให้เลือดที่ขาไหลเวียนได้ดี แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมและกีฬาที่รุนแรง หากใครไม่มีเวลาก็สามารถนั่งบริหารขา ข้อแทนแทนได้ เช่น นั่งยืดขา กระดกเท้าขึ้นลง หมุนข้อเท้า ทำสลับไปมาทั้งสองข้าง 

3.ไม่ควรยืนหรือนั่งติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้แรงดันในเส้นเลือดดำสูงขึ้น จนเกิดอาการเจ็บที่บริเวณเส้นเลือดขอดได้ ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้อย่างเต็มที่ ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และไม่ควรนั่งไขว้ขา 

4.หลีกเลี่ยงการสวมกางเกงหรือกระโปรง ที่คับหรือรัดบริเวณขามากเกินไป และไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน 

5.ไม่ปล่อยให้น้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ โดยควบคุมปริมาณและประเภทของอาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการบวมมากขึ้น 

6.หลีกเลี่ยงการสวมสเตย์หรือเสื้อผ้าที่รัดติ้ว เพราะจะยิ่งทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือด และลิ้นของเส้นเลือดดำทำงานลำบากขึ้น 

7.รับประทานอาหารที่มีสารฟลาโวนอยด์ และ ไบโอฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยในเรื่องของรักษาหลอดเลือดโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น บลูเบอร์รี่ หรือผลไม้ตระกูลเบอร์รี่, ดาร์กช็อกโกแลต  

เส้นเลือดขอดสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดได้ด้วยการออกกำลังและเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เน้นรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและโซเดียมต่ำ รวมทั้งควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม