โรคธาลัสซีเมีย เป็นหนึ่งในโรคโลหิตจางที่ส่งต่อโรคมาจาก พ่อแม่หรือที่เรียกกันว่าถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งหากรับยีนจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ซึ่งจะเรียกว่าธาลัสซีเมียแฝงไม่ถือว่าเป็นโรค ผู้ที่รับเชื้อจะไม่แสดงความผิดปกติใด ๆ แต่ก็สามารถเป็นพาหะส่งไปยังรุ่นต่อ ๆ ไปได้ แต่หากได้รับมาจากพ่อและแม่ จะส่งผลให้ป่วยเป็นโลหิตจางธาลัสซีเมีย
โรคธาลัสซีเมีย เกิดจากอะไร มีกี่ประเภท
โรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างโปรตีนโกลบินจึงทำให้เม็ดเลือดแดงขาดความยืดหยุ่น และนำออกซิเจนจากปอดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายได้ไม่มากพอ อีกทั้งยังมักจะถูกม้ามทำลาย นำไปสู่ภาวะโลหิตจางหรือภาวะซีด
โดยธาลัสซีเมียจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ อัลฟ่าธาลัสซีเมีย และเบต้าธาลัสซีเมีย โดยแต่ละประเภทยังสามารถแยกย่อยได้อีกหลายแบบ และมีความรุนแรงที่แตกต่างกันออกไป
อาการของ โรคธาลัสซีเมีย
อาการที่มีความรุนแรงสูง – หากเป็นการตั้งครรภ์เด็กอาจจะเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือหลังจากคลอด ซึ่งจะมีอาการบวมน้ำ ซีด ตับม้ามโต และหัวใจวาย
อาการที่มีความรุนแรงปานกลาง – อาการอาจจะเริ่มในปีแรกหลังคลอด และอาการจะชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ จะเริ่มอ่อนเพลีย ผิวซีดหรือเหลือง ตับและม้ามโต กระดูกใบหน้าผิดรูป แคระแกร็น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ปวดเมื่อยร่างกาย
อาการที่มีความรุนแรงน้อย – เด็กจะซีด เหนื่อยง่าย บางครั้งอาจจะต้องให้เลือด
การรักษา โรคธาลัสซีเมีย
การรักษาขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ว่ามีความรุนแรงอยู่ในระดับไหนก็จะใช้วิธีรักษาที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการ และสภาวะแทรกซ้อน เช่นการให้เลือด การให้ยา การทำคีเลชั่นเพื่อกำจัดธาตุเหล็กเกินขนาด เป็นต้น
ส่วนวิธีรักษาให้หายขาด ก็สามารถทำได้ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้อื่น แต่ก็เหมาะในเด็กบางรายเท่านั้นเพราะยังมีตวามเสี่ยงจากสภาวะแทรกซ้อน และเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนของ โรคธาลัสซีเมีย
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ได้เข้ารับการรักษา อาจจะมีภาวะหัวใจวายหรือปัญหาเกี่ยวกับตับ และมีความเสี่ยงที่อาการต่าง ๆ จะรุนแรงขึ้น การควบคุมอาการบางโรคก็จะทำการถ่ายเลือด แต่ก็เสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการได้รับธาตุเหล็กมากเกินไป
เราจะเห็นได้ว่า โรคธาลัสซีเมีย สามารถเป็นได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมดังนั้นก่อนที่จะตั้งครรภ์ควรดูว่าคู่ของเราพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่ หรือหากเป็นโรคนี้ก็สามารถควบคุมอาการโดยปฏิบัติตามคำแนะนำและแผนการรักษาของแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ