คุณแม่ควรรู้ ลูกร้องแล้วเกร็ง เกิดจากสาเหตุอะไร

ลูกร้องไห้งอแงนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้ ลูกของคุณอาจหิว ผ้าอ้อมเปียก มีสิ่งรบกวน หรืออาจจะเป็นสาเหตุอื่นๆ แต่หากลูกน้อยของคุณร้องไห้แล้วมีอาการเกร็งล่ะ คุณแม่หลายท่านอาจตกใจ และอยากรู้ว่าอาการแบบนี้ของลูกสาเหตุนั้นเกิดจากอะไร

ลูกร้องแล้วเกร็ง เกิดจากอะไร?

หากลูกน้อยของคุณร้องไห้งอแง แล้วมีอาการเกร็งร่วมด้วย สาเหตุที่ลูกร้องแล้วเกร็งนั้นอาจมีความเป็นไปได้อยู่สองกรณีคือ ลูกร้องโคลิค กับ ลูกร้องกลั้น ซึ่งทั้งสองกรณีลูกจะมีอาการเกร็งระหว่างที่ร้องไห้ด้วย

ลูกร้องโคลิค คืออะไร?

อาการของเด็กร้องแบบโคลิคนั้นจะร้องไห้โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งทารกเพศชายและเพศหญิง พบบ่อยในเด็กอายุประมาณ 4-6 สัปดาห์ เด็กมักจะร้องไห้ในช่วงเวลาเดิมๆ

  • อาการ เด็กจะร้องเสียงสูง เสียงดังแหลม ร้องไห้นานเป็นชั่วโมง อาจมีอาการหน้าท้องเกร็งร่วมด้วย
  • สาเหตุ ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของอาการร้องโคลิค แต่มีปัจจัยต่างๆที่อาจทำให้เกิดขึ้นได้ เช่น เด็กมีอาการปวดท้องซึ่งเกิดจากฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง, ระบบประสาทเกิดการระคายเคือง, กล้ามเนื้อมีการหดเกร็งภายในระบบทางเดินอาหาร, เกิดจากพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็ก ที่เป็นเด็กเลี้ยงค่อนข้างยากร้องไห้ง่าย เป็นต้น
  • การดูแลรักษา สำหรับการร้องโคลิคนั้นเด็กจะหายเองได้เมื่อมีอายุประมาณ 3–4 เดือน หากเด็กมีอาการร้องโคลิคอาจลองใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ หรือมีกิจกรรมทำร่วมกับเด็ก เช่น การพาไปเที่ยว อาบน้ำอุ่นให้ลูก เปิดเพลงให้ฟังเบาๆ เป็นต้น

ลูกร้องกลั้น คืออะไร?

การร้องกลั้น คือ เด็กจะร้องไห้อย่างรุนแรง ซึ่งสาเหตุโดยส่วนใหญ่นั้นเด็กจะถูกขัดใจ โกรธ หรือเด็กมีอาการตกใจ เด็กจะร้องไห้และจะกลั้นหายใจโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจทำให้เด็กหมดสติและมีอาการชักในช่วงสั้นๆ มีอาการเพียงชั่วครู่ หลังจากนั้นเด็กก็จะหายใจได้ปกติ สามารถพบได้บ่อยในเด็กอายุ 16-18 เดือน

  • อาการ ร้องไห้ไม่มีเสียง, ตัวเกร็ง, มีอาการอ้าปากค้าง, ปากซีดหรือมีสีเขียวม่วง
  • สาเหตุ โดยมากแล้วมักเกิดจากเด็กมีอาการโกรธ ถูกขัดใจ หรือมีอาการตกใจ แต่ภาวะร้องกลั้นนั้นจะไม่เกิดอันตรายต่อเด็ก แต่อาจส่งผลทำให้พ่อและแม่ของเด็กเกิดความกังวลได้
  • การป้องกัน และดูแลรักษา หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เด็กเกิดภาวะตกใจกลัว หงุดหงิด หรือโกรธ, ขณะเด็กมีอาการควรให้อยู่ในที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น

การที่เด็กร้องโคลิคและร้องกลั้นจะไม่มีอันตรายต่อเด็ก แต่ถ้าเด็กมีอาการนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็ควรที่จะไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายให้ละเอียด เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที