โรคพิษสุราเรื้อรัง คืออะไร อันตรายกับตัวเรามากแค่ไหน

การดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจนเมามายนั้น นอกจากจะเสียสุขภาพแล้ว หากคุณเกิดอาการเมาค้างก็จะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน ไม่ได้ดื่มก็จะหงุดหงิด หากดื่มจนเมาก็จะขาดสติ พอไปขับรถก็จะเกิดอุบัติเหตุนำมาซึ่งการเสียชีวิตได้ และหากดื่มมากๆแล้วก็อาจจะทำให้เกิด พิษสุราเรื้อรัง ทีนี้ล่ะโรคร้ายต่างๆก็จะถามหา

โรคพิษสุราเรื้อรัง คืออะไร?

โรคพิษสุราเรื้อรัง คือ ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ดื่มติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน และไม่สามารถที่จะเลิกดื่มได้ ทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม ส่งผลเสียต่อครอบครัว สังคมรอบข้าง และทำให้เสียการเสียงานได้ ดังนั้นคุณควรจะหยุดดื่ม หากไม่ต้องการให้ร่างกายทรุดโทรมไปมากกว่านี้ และควรมีแพทย์คอยกำกับดูแลเพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

พิษสุราเรื้อรัง ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ จะส่งผลเสียต่อร่างกายและทำให้เกิดโรคต่างๆได้ ดังนี้

  • โรคตับ อาจเกิดความผิดปกติและเกิดโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับตับ เช่น ตับอักเสบ ไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง เป็นต้น
  • น้ำตาลในเลือดต่ำ แอลกอฮอล์จะยับยั้งการหลั่งกลูโคสในตับ ทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำลงได้
  • ระบบประสาทผิดปกติ เช่น เป็นโรคสมองเสื่อม กระบวนการทางความคิดมีความผิดปกติไป เป็นต้น
  • การย่อยอาหารผิดปกติ เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ การดูดซึมแร่ธาตุอาหารต่างๆลดลง เป็นต้น
  • โรคมะเร็ง ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ จะมีความเสี่ยงที่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งตับ มะเร็งในช่องปาก มะเร็งลำไส้ เป็นต้น
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • โรคเกี่ยวกับกระดูก อย่างเช่น โรคกระดูกพรุน หรือไขกระดูกถูกทำลายทำให้เกล็ดเลือดลดลง ส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงมีภาวะเลือดออกมากผิดปกติ

การรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง

สำหรับแนวทางในการรักษา และการเยียวยาร่างกายและจิตใจจากพิษสุรา สามารถทำได้ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หันมารับประทานผักและผลไม้ให้มาก รับประทานข้าวกล้อง และโปรตีนจากเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆในอาหาร จะช่วยฟื้นฟูร่างกายจากพิษของสุราได้
  • ถอนพิษสุรา โดยการหยุดดื่ม หรือค่อยๆลดปริมาณการดื่มลง ซึ่งแพทย์จะให้ยามารับประทานเพื่อบรรเทาอาการขาดสุราด้วย
  • ออกกำลังกาย เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้ร่างกายมีความสดชื่น เมื่อเรารักสุขภาพมากขึ้น ก็อาจมีแนวโน้มทำให้การอยากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นลดลงได้
  • ปรับสภาพจิตใจ โดยการให้คำปรึกษา แพทย์จะให้คำปรึกษาสำหรับผู้ที่ติดสุราซึ่งมีปัญหามาจากสภาพของจิตใจ อาจจะต้องได้รับการบำบัด หรือฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้น
  • รับประทานยา ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้รับประทานยาที่มีฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ยาแอคแคมโพรเซส ยานาลเทรกโซน เป็นต้น

คุณควรหากิจกรรมต่างๆทำทดแทนการออกไปนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การออกกำลังกาย เข้าสมาคมต่างๆ หรือลงเรียนเรื่องต่างๆเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม เป็นต้น จะเป็นการช่วยให้คุณใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มากขึ้นด้วย